“รู” of law

สิงหาคม 9, 2008 at 5:01 am (Uncategorized)

            ภายใต้สภาวะสมัยใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ ความมีเหตุผล (rationality) ได้กลายมาเป็นรากฐานของความชอบธรรมของทุกสิ่ง โดยเฉพาะความชอบธรรมของระเบียบและอำนาจทางการเมือง หลักการสำคัญของรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่า นิติรัฐ หรือ rule of law จึงกลายมามีความสำคัญอย่างที่สุดที่ใช้ในการปกครอง ตัวอย่างที่ดีก็คือ กฎหมายหรือคำตัดสินของศาลได้กลายมาเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นความยุติธรรมในตัวเอง หากผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลก็จะถูกกล่าวหาว่า ดูหมิ่นศาล เป็นต้น

            ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การปกครองของรัฐสมัยใหม่ ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ทุกคนจะต้องถูกทำเสมือนว่า (supposed to know) เข้าใจและรู้กฎหมายในทุกมาตรา โดยจะอ้างว่าที่ละเมิดกฎหมายเพราะไม่รู้ไม่ได้ กฎหมายในทรรศนะของเสรีนิยมประชาธิปไตยดังกล่าวนี้จึงมีความเป็นกลาง ยุติธรรม และสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง (in-itself) มากกว่าที่จะถูกรับรองหรือเสริมความชอบธรรมจากอะไรที่อยู่ เหนือ หรือ นอก ตัวบทกฎหมายเอง   

 

            สิ่งที่เรียกกันว่า นิติรัฐ หรือ rule of law จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงและเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรก นิติรัฐจึงเป็นเพียงระเบียบที่ถูกสร้างขึ้นมาปกครองของรัฐซึ่งต้องอาศัยอำนาจที่อยู่ เหนือ หรือ นอก นั่นก็คือ อำนาจของพ่อมาเป็นจุดอ้างอิงอีกที นิยายชวนฝันว่าด้วยกำเนิดของพ่อและระเบียบของพ่อ หรือกำเนิดของรัฐนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการทำหน้าที่ปกปิด รู หรือ ความขาด หรือความล้มเหลวของตัวบทกฎหมายที่ไม่สามารถสมบูรณ์หรือจบสิ้นภายในตัวมันเอง แต่ต้องอาศัยการรับรองและหนุนเสริมขององค์อธิปัตย์ซึ่งมาพร้อมกับการใช้ความรุนแรงอีกที ความขาด หรือ รู ที่ถูกเติมเต็มโดยองค์อธิปัตย์จึงไม่ได้อยู่ นอก (outside) จากกฎระเบียบทั้งหมด แต่เป็นพื้นที่ ระหว่าง (threshold) ข้างในและข้างนอก[1]

           รูโหว่ ซึ่งเป็นที่สถิตขององค์อธิปัตย์จึงสะท้อน ความขาด ความล้มเหลว และความไม่สมบูรณ์ของกฎหมายเอง กล่าวให้ชัดแล้ว ความไม่สมบูรณ์ดังกล่าวก็คือ ความเป็นไปไม่ได้ (impossibility) ของสิ่งที่เรียกกันว่า นิติรัฐ (rule of law) หรือ รัฐที่วางอยู่บนกฎหมาย (Rechtsstaat) โดยตัวของมันเอง นิติรัฐ หรือ RULE of law จึงไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง แต่ถูกรับรอง/รองรับ และในด้านหนึ่งก็ถูกจำกัดไว้โดย ความขาด หรือ รู นั่นก็คือ อำนาจขององค์อธิปัตย์มากกว่า

             Nicos Poulantzas ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างถูกต้องว่า หลักการว่าด้วยความเท่ากันต่อหน้ากฎหมายในฐานะที่เป็นหลักการพื้นฐานที่รองรับความชอบธรรมและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลภายใต้รัฐทุนนิยมสมัยใหม่นั้น จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมันวางอยู่บน เงื่อนไขที่เขาเหล่านั้น [ประชาชน-ผู้เขียน]เป็น/กลายมาเป็นกระฎุมพี[2] เท่านั้น

            

            นั่นหมายความว่า หลักการว่าด้วยความเท่ากันต่อหน้ากฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีวันเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิงในโลกของความเป็นจริงภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะตราบใดที่คนทุกคนภายใต้ระบบทุนนิยมหรือรัฐประชาชาติไม่สามารถกลายมาเป็นกระฎุมพีทั้งใหญ่และน้อยได้ นั่นก็หมายความว่า พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่สามารถมีความเท่ากันกับคนอื่นหรือชนชั้นอื่นได้  

              ดังนั้น อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยตามหลักการแบ่งแยกอำนาจของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) ที่แสดงออกผ่าน ศาลยุติธรรม ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา ฯลฯ จึงไม่ได้มีสาระแก่นสารหรือมีฐานของการอ้างอิงอะไร นอกเหนือจาก ความกลวงเปล่า/ความขาด/รู ที่ไม่สามารถตั้งคำถามได้/ท้าทายไม่ได้/เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

             โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมการเมืองที่อำนาจตุลาการเป็นฐานที่มั่นขององค์อธิปัตย์ การท้าทายต่อศาลและคำตัดสินของศาลของประชาชนจึงเป็นการท้าทายและตั้งคำถามกับอำนาจและการดำรงอยู่ขององค์อธิปัตย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดองค์อธิปัตย์เลือกที่จะระงับ/ทำลาย/ยุบสถาบันทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น รัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมือง ฯลฯ ผ่านอำนาจของศาลที่ถูกทำให้ตั้งคำถามไม่ได้/ท้าทายไม่ได้แต่แรก

              กฎของพ่อจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อมันถูกดึงเข้ามาไว้ภายใน (domestication) ในฐานะที่เป็นระเบียบและวินัย (order and discipline) ที่ซับเจคใช้ในการควบคุมตนเองและห้ามตนเอง (self-censorship/self-prohibition)[3] มากกว่าที่จะถูกห้ามโดยกฎหมายที่เป็นตัวบท (text) นั่นหมายความว่า ภายใต้การปกครองของพ่อและกฎของพ่อที่การใช้อำนาจของพ่อถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม การเรียกร้องหาพ่อของลูกๆทั้งหลายจึงเป็นสามัญสำนึก (common sense) ของคนจำนวนมากที่ถูกปกครอง

             พ่อจึงไม่ใช่อำนาจที่กดบังคับจากภายนอก แต่พ่อทำงานจากความยินยอมพร้อมใจจากภายในชีวิตและจิตใจของคนธรรมดาๆในสังคมมากกว่า เช่นเดียวกับการบุกฆ่านักศึกษาประชาชนโดยลูกเสือชาวบ้านในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ประชาชนส่วนหนึ่งกลายมาเป็นรัฐและส่วนหนึ่งของรัฐและทำหน้าที่แทนรัฐและเจ้าผู้ปกครองในการประหัตประหารคนที่ต่อต้านรัฐและอำนาจรัฐเสียเอง อำนาจของพ่อที่ถูกดึงเข้ามาอยู่ภายในซับเจคจึงเป็นดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่า

 

อำนาจควบคุมบงการชนิดนี้มักไม่ได้อาศัย ตำรวจ ทหาร ศาล หรือโรงเรียน หรือส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่มีพลเมืองดีทุกหัวระแหงที่พร้อมจะทำตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อรัฐ เข้าลงมือ และใช้อำนาจต่อผู้ที่ละเมิดเสียเองโดยไม่ต้องอาศัยกลไกรัฐเลย ประชาชนด้วยกันนี่แหละกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐไปด้วยแล้ว[4]


[1] ดูการอภิปรายประเด็น ข้างนอก (outside) และ ข้างใน (inside) ใน Michael Hardt and Antonio Negri, Empire (Cambridge: Harvard University Press, 2000), p. 67-204; Giorgio Agamben, Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life (Stanford: Stanford University Press, 1998)

[2] “on condition that he is or becomes a bourgeois” ใน Nicos Poulantzas, State, Power, Socialism (London and New York: Verso, 1980), p.90.

[3] Nicos Poulantzas, State, Power, Socialism (London and New York: Verso, 1980), p. 77-8.

[4] ธงชัย วินิจจะกูล, ปาฐกถาพิเศษ เสื้อเหลือง กับอนาคตของการศึกษาเรื่อง รัฐ’” จัดโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, วันที่ 30 มีนาคม 2550 ดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=7752&Key=HilightNews (เข้าดูวันที่ 9 สิงหาคม 2551)

 

 

 

3 ความเห็น

  1. เจน said,

    สงสัยอ่ะ

    แล้วถ้ารัฐที่ไม่มีพ่อเป็นประมุข..
    อะไรคือรู/ช่องโหว่งในความหมายนี้..

    แล้วองค์อธิปปัตย์หมายถึงอะไรได้บ้าง

    แล้วองค์อธิปปัตย์จะใช้อำนาจผ่านตุลาการเสมอไปหรือไม่?อย่างไร?

    อย่าลืมตอบนะจ๊ะ

    อยากรู้ๆ

  2. Nay : ) said,

    ผมไล่อ่านเกือบจะทุกบทความแล้ว

    บอกได้คำเดียว
    .
    .
    .

    มันส์มากครับ

  3. chocolate lover said,

    เห็นด้วยกับคห.2
    มันมันส์จิง
    แต่อัพบ้างนะ
    งานที่ม.เยอะละสิ
    เลยไม่มีเวลาอัพ
    fighting+++++

ใส่ความเห็น